รักษาความเยาว์วัยด้วยวิถีนิวเอจ แบบ Dr. Deepak Chopra
ความคิดของ ดร.โชปรา ไปไกลและลึกซึ้งกว่าเรื่องหน้าแก่หน้าเหี่ยวหน้าตึง เพราะอันที่จริงหน้าตาของ ดร. ดีพัก ก็ดูสมวัยครึ่งศตวรรษไม่ได้อ่อนเยาว์ผิดปกติ ความชราและความเยาว์วัยที่จะพูดถึงนี้ จึงเป็นเรื่องลึกลงไปในระดับเซลล์ ระดับกลไกการทำงานของร่างกายและจิตใจ หรือเรียกโดยรวมว่าเป็นเรื่องสมรรถภาพของร่างกายมากกว่า
สำหรับความพยายามที่จะชะลอความแก่ให้ได้ แต่ละคนต้องคิดและปฏิบัติด้วยตนเอง ผู้เชี่ยวชาญทำได้เพียงแนะแนวให้เท่านั้นและ ดร. ดีพัก ก็ได้ให้ช่องทางไว้ด้วยกัน 9 ข้อ โดยใน 3 ข้อแรกเป็นแนวคิดที่เราต้องคิดตามให้ได้จนเห็นจริง เกิดเป็นความเชื่อมั่นในสำนึกทุกระดับ ส่วนอีก 6 ข้อหลังเป็นแนวปฏิบัติที่ต้องทำตามจนเกิดผลด้วยตนเอง ทำได้ตามนี้มีหวังที่จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปีสบายๆ
1. ต้องเปลี่ยนแปลงการรับรู้และความคิดเรื่อง กระบวนการชราภาพ ของร่างกาย
แนวคิดเรื่อง กระบวนการการชราภาพของร่างกาย ตามที่เราได้รับการสั่งสอนและสั่งสมกันมา ทั้งในการแพทย์แบบตะวันตก หรือแม้กระทั่งในแนวคิดของพุทธศาสนาเองนั้น ยึดถือกันมาว่า คนเราเกิดมาแล้วได้พักหนึ่งก็ต้องแก่และตายเป็นธรรมดา อย่าเดือดร้อนดิ้นรนขัดขืนไปเลย ดร.ดีพัก โชปรา ท้าทายกฎธรรมชาตินี้โดยใช้ข้อมูลทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นแนวทางการคิดแนวใหม่ว่า
ร่างกายของทารกแรกเกิด แม้จะดูบอบบางนุ่มนวล แต่ในทางชีววิทยาและการแพทย์นั้นก็ต้องถือว่าสะอาดปราศจากมลภาวะและแข็งแรงที่สุด เช่นเส้นโลหิตที่แม้จะบอบบางนุ่มราวเส้นไหม แต่ก็ใสสะอาดปลอดโปร่งโล่งไปหมด ทำให้การหมุนเวียนโลหิตและสารเคมีต่างๆ มีประสิทธฺภาพ 100% และเป็นเช่นนี้กับทุกระบบของร่างกาย ถ้าเราสามารถคงทุกอย่างไว้ให้สะอาดบริสุทธิ์เช่นร่างกายของทารกแรกเกิดได้ตลอดไปราก็จะมีอายุยืนนับ 100 ปี
ความจริงอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการการชราภาพของร่างกายคือ ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ผิวหนังของคนเราผลัดเซลล์ใหม่หมดใน 1 เดือน เยื่อบุผนังกระเพาะผลัดเซลล์หมดใน 5 วัน เซลล์ตับเปลี่ยนใหม่ทุก 6 สัปดาห์ หรือกระดูกซึ่งดูตามสภาพแล้วแข็งแกร่งก็เปลี่ยนหมดในเวลา 3 เดือน และภายใน 2 ปี 98% ของเซลล์ร่างกายเราเป็นของใหม่หมด ดังนั้นแม้ว่าอวัยวะทุกอย่างของเราจะดูหน้าตาเหมือนหรือคล้ายเดิม แต่อันที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างทางกายภาพเป็นกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง พูดให้เห็นภาพก็คือ ตามสภาพทางกายภาพเราเป็นคนใหม่ไม่เหมือนเดิมเลยสักวัน
การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเราเอง และในคนสุขภาพดีปกติ การเปลี่ยนแปลงนี้มีประสิทธืภาพเต็มร้อยนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 30 ปี
นับตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะเริ่มด้อยประสิทธิภาพลงซึ่งก่อให้เกิดความแก่ที่เรากลัวกัน สัญญาณของความแก่ ได้แก่ ตีนกาขึ้น ผิวแห้ง กล้ามเนื้อเริ่มหย่อนยาน กระดูกเริ่มบางและเปราะ สายตาเปลี่ยน หูเริ่มตึงสวนทางกับผิวพรรณ เป็นต้น แต่ก็น่าชื่นใจว่าตามข้อมูลของ ดร.ดีพัก ความบกพร่องนี้จะเกิดขึ้นเพียง 1% ของกระบวนการการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ดร.ดีพัก อุปมาอย่างน่าฟังว่าร่างกายของเราก็เหมือนนักละครเชคเปียร์มือโปรที่สามารถเล่นละครเรื่องยิ่งใหญ่ได้ซ้ำๆ นับเป็นร้อยๆ พันๆ รอบ แต่ก็ดูสนุกได้อารมณ์เท่าเดิม รอบที่ร้อยที่พันก็อาจจะพูดผิดบ้างก็เพียงคำสองคำ ร่างกายเราก็เช่นกัน พออายุเริ่ม 30 ปี เซลล์ต่างๆ ที่เล่นละครเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือการผลักเซลล์อันเป็นนิรันดร์ ก็อาจพูดผิดหรือเอี้ยวตัวผิดไปบ้างเล็กน้อย นิดเดียวเท่านั้น แต่ความเป็นจริงก็คือ ในทุกขณะแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มีเซลล์อีกตั้ง 99% ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของเรา
กุญแจสำคัญในการควบคุมความแก่อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เซลล์ทำงานบกพร่องไป 1% นี้เอง และทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า 1% ที่บกพร่องไปนั้นอยู่ที่ตรงไหน แนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างมีสติของเรา ตามแนวทางอายุรเวท จะเป็นเครื่องมือแก้หรือชะลอความผิดพลาด 1% ตรงนี้ได้ ฟังแล้ว คิดตกแล้ว ก็มีกำลังใจขึ้นเยอะ ในการที่จะปฏิบัติตัวต้านความแก่ และสร้างสรรค์สุขภาพ เพราะทุกขณะเรามีของดีที่ไม่บกพร่องอยู่ในตัว ตามธรรมชาติตั้ง 99%
2. ต้องเปลี่ยนแปลงการับรู้และความคิดเรื่อง ร่างกาย
ตามแนวแพทย์แผนปัจจุบันที่มีพื้นฐานอยู่บนความคิดแนววัตถุนิยม รวมทั้งการรับรู้จากประสาทสัมผัสของเราเองนั้น เห็นว่าร่างกายของเราทุกสรรพสิ่งรวมทั้งกายของเราเป็นของแข็งเป็นรูปธรรม เป็นสสาร นี่ยากที่จะปฏิเสธเพราะตาก็เห็นและมือก็จับต้องได้
ดร.ดีพัก พาเราไปลึกกว่านั้น โดยท้าทายว่าสสารรวมทั้งร่างกายมนุษย์เป็นที่ว่างเสียเป็นส่วนใหญ่ เราชาวตะวันออกฟังแล้วไม่แปลกใจมากนัก เพราะดูจะตรงกับพระเทศน์ว่าร่างกายเป็นเพียงที่ชุมนุมของธาตุทั้งสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ และเพิ่มอากาศ (ช่องว่าง) เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง แต่วิทยาศาสตร์ตะวันตกดูจะเพิ่งตามเรื่องนี้ทันเมื่อศตวรรษที่แล้วนี้เอง เริ่มจากไอน์สไตน์ เสนอไว้ว่าสสารและพลังงานถ่ายเทเปลี่ยนแปลงกันได้ ไม่มีอะไรแข็งคงที่ ต่อมานักวิทยาศาสตร์ฝรั่งก็ฉลาดขึ้นทีละน้อยจกาแนวความคิดนี้ จนในปัจจุบันเมื่อเครื่องไม้เครื่องมือวิทยาศษสตร์ดีขึ้นละเอียดขึ้นจนเจาะลึกเข้าไปในส่วนละเอียดยิบของอะตอมสิ่งต่างๆ ได้ จึงเห็นตรงกันว่าในแก่นของอะตอมที่ว่าเล็กเท่าเล็กแล้ว ก็มีองค์ประกอบย่อยๆ ลงไปอีกหลายตัวและในที่สุดควอนตัวฟิสิกส์ก็ประกาศว่า องค์ประกอบย่อยๆ เหล่านี้ ที่จริงมิใช่สสารแต่เป็นกลุ่มพลังงานที่สั่นสะเทือนกันสุดฤทธิ์จนดูเข้มข้นขึ้นมาเป็นสสาร
แล้วองค์ประกอบย่อยๆ เหล่านี้ก็วิ่งกันไปมาในที่ว่างของอะตอมนั่นเอง นักฟิสิกส์ในปัจจุบันที่มีพื้นฐานการคิดจากควอนตัมฟิสิกส์ล้วนสรุปอย่างอาจหาญว่า ในแต่ละอะตอมของสรรพสิ่งประกอบขึ้นด้วยที่ว่างไม่น้อยกว่า 99.999%
แล้วอะตอมเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรก็ง่ายๆ อะตอมหลายตัวประกอบกันขึ้นเป็นโมเลกุล โมเลกุลหลายตัวประกอบกันขึ้นเป็นเซลล์แต่ละเซลล์ และเซลล์ประมาณ 50 ล้านล้านตัว ก็ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายเพราะฉะนั้นโดยหลักเหตุผลแล้ว ร่างกายที่ดูทรงพลังแข็งแกร่งของเรา อันที่จริงก็ประกอบด้วยที่ว่างถึง 99.999% รู้ความจริงเข้าแทยจะยืนทรงกายไม่ไหวทีเดียว เมื่อเรารู้ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าร่างกายเป็นที่โล่งแจ้งนั้น เป็นกุญแจดอกสำคัญที่มาปลดเปลื้องพันธนาการแห่งความแน่นิ่ง ความไม่เคลื่อนไหวที่นำไปสู่ความเน่าเปื่อยผุพัง นับเป็นข้อเท็จจริงที่นำอิสรภาพมาสู่เราเป็นอย่างยิ่ง ธรรมชาติสร้างสรรค์ค์ดวงดาวและกาเล็กซี่ต่างๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลาในที่โล่งแจ้งแห่งอวกาศอันเคว้งคว้างอย่างไร เราในฐานะที่เป็นภาคหนึ่งของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ก็สามารถสร้างสรรค์ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลได้เหมือนกัน ถ้าร่างกายเป็นของสถิตแน่นิ่ง เราย่อมสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงอะไรกับร่างกายไม่ได้เลย แก่แล้วแก่เลย เพราะฉะนั้นความจริงที่ว่าร่างกายของเราเป็นกลุ่มพลังงานที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในที่ว่าง จึงเป็นความรู้ที่เป็นข่าวดีอย่างยิ่ง
ทีนี้ในเมื่อร่างกายเป็นที่ว่างเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำไมเราจึงรู้สึกเป็นคนเดิมตัวเดิมอยู่ทุกวัน ก็เพราะจิตใจและจิตสำนึกของเรามันคุมร่างกายอยู่ อย่างที่ปราชญ์มากมายสอนให้ละให้เลิกยึดนั่นแหละ ในเมื่อร่างกายเราเป็นเพียงที่ชุมนุมของธาตุทั้งสี่กับช่องว่าง อย่าไปยึดกับมันมาก นี่ท่านสอนกันมาแต่โบราณแบบนี้ แต่สิ่งที่ต่างไปสำหรับ ดร.ดีพัก เมื่อค้นพบความจริงอย่างเดียวกันกับปราชญ์โบราณก็คือ ดร.ดีพัก สอนให้เราใช้อำนาจของจิตใจและจิตสำนึกที่ควบคุมกายได้นี้ โดยโปรแกรมจิตใจเสียใหม่เพื่อไปควบคุมให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการให้ได้
ดร.ดีพัก เล่าให้ฟังว่ามีการทดลองแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย เขานำผู้ถูกทดลองอายุประมาณ 80 ปี จำนวนหนึ่งมาอยู่รวมกันเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยทั้งหมดประชุมตกลงกันว่าชอบตัวเองตอนที่อยู่ในยุคศตวรรณ 1950 มากที่สุด แล้วเขาก็จัดสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เป็นยุคฟิฟตี้ส์ ทุกคนแต่งตัวกันแบบนั้น ฟังเพลงแบบนั้น ดูหนังจากยุคนั้น ฯลฯ ทุกอย่างตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เป็นยุคฟิฟตี้ส์หมด ปรากฏว่าไม่กี่เดือนผ่านไป ผู้ถูกทดลองมีสภาพร่างกายเยาว์วัยขึ้นโดยเฉลี่ยคนละ 3 ปี ทั้งนี้โดยทดสอบสภาพทางกายภาพหลายๆ อย่าง เช่น ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ความอึดในการออกกำลังกาย ปริมาณคอเลสเตอรอล ปริมาณสารเคมีต่างๆ ที่บ่งบอกถึงวัยแต่ละวัย เป็นต้น แม้การเยาว์วัยขึ้น 3 ปี จะไม่ใช่ตัวเลขที่มากนัก แต่ก็เป็นการทดลองที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าเราสามารถสร้างสรรค์ค์ร่างกายของเราได้จริงๆ อย่างอิสระตามความคิดและจิตใจของเรา ตามที่โปรแกรมเข้าไป
3. ต้องเปลี่ยนแปลงการรับรู้และความคิดเรื่อง เวลา
อย่าคิดว่าเวลาเป็นเรื่องตายตัว เวลาเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์อีกอย่างหนึ่งของมนุษย์รับรู้และใช้มันเพียงเพื่ออ้างอิงและสื่อสารระหว่างมนุษย์ในกรอบคร่าวๆ เท่านั้น อย่ายึดถือเป็นเรื่องตายตัว ความรู้สึกที่เรามีต่อเวลา เป็นการรับรู้ของคนแต่ละคนเท่านั้น
คนที่รีบร้อนอยู่เสมอ ชอบมีเส้นตายมีตารางไว้บีบจิตใจจนกระดิกไม่ได้นั้น การรับรู้เรื่องเวลาของเขาจะเร็วและผ่านไปอย่างรวดเร็วกระหืดกระหอบเสมอ สำหรับผู้ที่จิตใจไม่ค่อยถูกบีบคั้นเรื่องเวลาก็จะมีเวลาเหลือเฟือ ในบางขณะที่จิตใจมีความสุขความสงบเต็มที่ เวลาจะหยุดนิ่งทีเดียว ยิ่งสงบมากนิ่งมากกรอบเวลาก็หายไปเลยทีเดียว เข้าสู่ภาวะไร้กาลเวลา (timelessness)
ความรู้สึกที่ผูกพันกับเวลาที่ต่างๆ กันเช่นนี้ มีผลทางกายภาพและกระบวนการการแก่อย่างแน่นอน คำว่า เส้นตาย เรื่องเวลานั้น มีความหมายถึงเรื่องการตายทางกายภาพได้จริงๆ ตามตัวอักษร เพราะร่างกายและอารมณ์ที่ถูกบีบคั้นด้วยเส้นตายและความรีบร้อนกระหืดกระหอบนี้ ย่อมหลั่งฮอร์โมนแห่งความตายอันเป็นพิษออกมาทีละน้อย บ่อยๆ เข้าก็แก่เร็ว ตายเร็วไปเอง นอกจากนี้การรับรู้เรื่องเวลาที่เลื่อนไหวไปตามแนวนอน (linear time) ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่เราสั่งสมกันมานาน จนเรานึกว่าเป็นความจริงขั้สัจธรรม โดยเฉพาะในวิธีการคิดแบบตะวันตกนั้น เวลาในลักษณะแนวนอน เช่นมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ฝังรากลึกเหลือเกิน สังเกตได้จากแม้กระทั่งไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเกือบทุกชาติ มีการผันคำกริยาไปตามกาลเวลาที่เกิดขึ้นตามแนวนอนเสมอ ฝรั่งพูดว่า I am writing a letter to her now. แต่ถ้าเขียนเมื่อวานก็ว่า I wrote her a letter ถ้าเพิ่งเขียนก็ว่า I have just writer her a letter หรือถ้ากำลังจะเขียนก็ว่า I will write her a letter นี่เป็นการแสดงออกถึงความยึดมั่นในเวลาอย่างซึมลึกเข้าไปถึงไวยากรณ์ภาษาเลยทีเดียว สำหรับเราคนตะวันออก น่าจะคลายความยึดมั่นในเรื่องเวลานี้ได้ง่ายกว่า เพราะ เขียน เราก็ว่าเขียนอย่างเดียว ไม่มี write , wrote , have writer อย่างดีก็เพียงเพิ่มคำว่าเมื่อวาน หรือพรุ่งนี้เข้าไปเพื่อให้สื่อสารกันรู้เรื่อง การรับรู้เรื่องเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการชะลอความชรานั้นอยู่ที่เวลาใน ปัจจุบัน เท่านั้น ที่นี่และขณะนี้เท่านั้นที่เราจะมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง อดีตและอนาคตมีแต่จะนำให้จิตใจและอารมณ์ฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะซ่านดีหรือซ่านร้ายก็ทำให้สารเคมีเสียสมดุลทั้งนั้น การฝึกสติหรือการทำสมาธิเป็นวิธีการที่จะทำให้เราอยู่ในปัจจุบันได้ดีที่สุด การทำจิตให้อยู่ในปัจจุบันมีผลชะลอความชราเกือบทุกด้านของร่างกายจริงๆ ดร.ดีพักเล่าไว้ในหนังสือยอดฮิต Angeless Body Timeless Mind (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1993 เป็น top ten bestseller อยู่ 9 เดือนของปี) ว่าการทดลองที่เขาทำกับผู้ฝึกสมาธิแบบ TM นั้น พบว่าผู้ถูกทดลองที่งึกสมาธิสม่ำเสมอมานอนพอสมควร มีอายุทางชีวภาพ อ่อนกว่าตั้งแต่ 5-12 ปี เมื่อเทียบกับอายุปฏิทินซึ่งก็คือเวลาแนวนอนนั่นเอง
ฟังแนวคิดเรื่องนี้แล้ว ดิฉันเสนอว่าในข้างต้น ลองไม่ใส่นาฬิกากันสักสัปดาห์หรือเดือนละวัน ลองใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยตามธรรมชาติและสัญชาตญาณของร่างกายสัปดาห์ละวัน เช่น หิวเมื่อไรก็รับประทาน ง่วงเมื่อไรก็นอน ทำเช่นนี้บ้าง ร่างกายและจิตใจของเราน่าจะผ่อนคลายและเซ้นซิทีฟมากขึ้น
ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นแนวคิดหลักในเรื่องการชะลอความชรา ตามแนวทางของ ดร.ดรพัก การับรู้ในเรื่องต่างๆ ของเราเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าไม่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ชะลอความชราได้ สิ่งนั้นก็ยากที่จะเกิดหรือยากที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นปฏิบัติฝึกฝนตนเองสู่การรักษาความอ่อนวัยไว้ได้ แม้เคยรู้มาเคยยึดมั่นมาแบบหนึ่งตามที่ครอบครัวสอน สังคมสอน มนุษย์เราก็มีอิสระพอที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ
อีก 6 ข้อต่อไปนี้เป็นหลักปฏิบัติกว้างๆ หลังจากเชื่อมั่นเห็นจริงในแนวคิด 3 ข้อดังกล่าวมาแล้ว
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังให้ครบถ้วนทั้ง 3 อย่างคือ
การออกกำลังหรือการปฏิบัติที่มุ่งการผสมผสานและผนึก กาย กับ จิต ให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะการผสานกายกับใจเป็นหนึ่งเดียวทำให้จิตควบคุมกายได้มีประสิทธิภาพขึ้น ขณะเดียวกันกายที่แข็งแรงก็เป็นบ้านที่สมบูรณ์ของจิตใจ ทั้ง 2 อย่างนี้แยกกันไม่ออก ได้แก่ โยคะอาสนะ มวยจีนรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
การออกกำลังที่เพิ่มและกระชับกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนัก เป็นต้น
การออกกำลังที่เพิ่มปริมาณความเข้มข้นของกระดูก เช่น การเดิน การวิ่ง เป็นต้น
ขจัดมลพิษในชีวิต มนุษย์เรายากที่จะหลีกเลี่ยงมลพิษในชีวิต แต่เราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุดอย่างมีสติและด้วยความตั้งใจ มลภาวะในชีวิตมนุษย์มีได้หลายด้าน ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงและขจัดออกไปจากชีวิตคือ
มลพิษจากการบริโภค (Toxic diet) เช่น แอลกอฮอล์รูปแบบต่างๆ สารนิโคตรินในบุหรี่ ซิการ์ กาเฟอีนในกาแฟ ชา น้ำอัดลม สารเคมีทั้งหลาย เรื่องนี้ส่วนใหญ่ใครๆ ก็รู้กันดี เหลือเพียงต้องทำให้ได้ หรือควบคุมให้น้อยที่สุด
มลพิษทางอารมณ์ (Toxic emotions) อารมณ์ต่างๆ ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีชนิดต่างๆ ออกมา บ้างก็เป็นพิษฆ่าเรา บ้างก็ชุบชีวิตเราได้ ขยะอารมณ์ที่ส่งผลร้ายแรงที่สุดต่อความชราและความตายก่อนวัยอันสมควรคือขยะอารมณ์แห่งความเป็นศัตรูอาฆาตมาดร้าย อันนี้รวมไปถึงความไม่เป็นมิตร อิจฉาริษยาด้วย อารมณ์นี้รุนแรงที่สุด ก่อให้เกิดขยะที่ร่างกายหลั่งสารเคมีออกมาฆ่าเราได้ และอีกอย่างหนึ่งร้ายแรงรองลงมาคือขยะอารมณ์ที่เกิดจากการต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ
มลพิษที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกัน (Toxic relationship) ขยะเกิดขึ้นได้เพราะว่าเมื่อความสัมพันธ์เกิดปัญหาขึ้นนั้นเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่เรามักหาคนผิดคือไม่โทษคนอื่น ก็โทษตัวเอง ไม่ว่าจะโทษใคร ผลแห่งการกล่าวโทษก็เกิดขึ้นในใจ วิธีการกำจัดปัญหาความไม่ลงรอบกันในความสัมพันธ์ทุกชนิดไม่ว่าสามีภรรยา นายจ้างลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อน ฯลฯ ต้องหันหน้าเข้าหากันและเจรจากัน บอกปัญหาและความต้องการของแต่ละฝ่ายด้วยความสงบ ด้วยจิตใจที่หลุดพ้นออกมาจากอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดจากปัญหา
อาหารการกิน เรื่องอาหารการกินนี้น ปัจจุบันมีหนังสือดีๆ มากมายเกี่ยวกับการดื่มการกินที่ดี ดร.ดีพัก จึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้มากนัก แต่ได้ให้คำแนะนำในเรื่องอาหารเสริมว่า ในคนที่มีสุขภาพดีปกติและรับประทานอาหารดีโดยเฉลี่ยนั้น ควรได้รับอาหารเสริมดังนี้
วิตามินรวมวันละ 2 เม็ด
วิตามินดี ผสมแคลเซียม วันละ 2 เม็ด (วิตามินดี 400IU และ แคลเซียม 1,000 มก.)
วิตามินซี 500 มก. วันละ 2 เม็ด
วิตามินอี 400 IU วันละ 2 เม็ด
มีความยืดหยุ่นโดยเฉพาะทางด้านจิตใจและภาวะอารมณ์ ความยืดหยุ่นทางอารมณ์และจิตใจข้อที่สำคัญที่สุดคือการปล่อยวาง หมายถึงการไม่ยึดติดกับผลสุดท้ายที่จะออกมา จะทำอะไรก็ทำไป ทำด้วยความรัก ทำด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบให้ดีที่สุด ผลจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ อย่าเอาใจไปผูกตรงนั้น
นอกเหนือจากการปล่อยวางแล้ว ความยืดหยุ่นทางจิตใจที่ควรฝึกฝนและโน้มนำเข้ามาในชีวิต ได้แก่ การยอมรับ การละทิฐิ การไม่จำเป็นต้องเป็นคนถูกเสมอไป ยอมแพ้บ้างก็ได้ การไม่ต้องแก้ตัวเมื่อจะทำอะไรต่ออะไร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลให้ร่างกายของเราแข็งแรงอ่อนเยาว์ได้จริงๆ
มีความรักและความเมตตา ความรักในที่นี้หมายถึงความรักในทุกระดับและความรักในวงกว้าง รักเพื่อนมนุษย์ รักโลก รักทั้งหมดทั้งสิ้นที่ได้ยล เหมือนเพลงพระราชนิพนธ์ รัก ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้า ให้พูดกับตัวเองด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่า วันนี้เป็นวันดีที่สุด ฉันจะมีพละกำลังมากขึ้น มีความแจ่มใสมีชีวิตชีวามากขึ้น มีเสียงหัวเรามากขึ้น มีความรักความเมตตา มีความกระตือรือร้นมากขึ้นยิ่งกว่าเมื่อวานนี้ บอกกับตัวเองเช่นนี้ทุกวัน ด้วยความเชื่อมั่นปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ แล้วทุกสิ่งจะเป็นจริง
ปัจจัยที่ช่วยชะลอความแก่
ความรู้สึกเป็นสุขพอใจในชีวิต
หน้าที่การงานที่รักที่ชอบ
ชีวิตแต่งงานที่มีความสุข (หรือความสัมพันธ์ฉันชวิตคู่ที่ยาวนานมั่นคงรูปแบบใดก็ได้)
ตารางชีวิตและงานประจำวันที่แน่นอนสม่ำเสมอ
ความสัมพันธ์ทางเพศที่พอใจ
สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนสนิทได้
ควบคุมชีวิตตนเองได้
ยิ้มและหัวเราะง่าย
งานอดิเรกที่ชอบและใช้เวลาล่าวได้อย่างสนุกสนานรื่นรมย์
มองชีวิตและอนาคตด้วยความสดใส
สามารถและมีโอกาสแสดงออกถึงความต้องการและอารมณ์ภายในได้
หยุดงานไปท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างน้อยปีละ 1 สัปดาห์
รู้สึกมั่นคงทางการเงิน ไม่ได้หมายถึงต้องรวย แต่หมายถึงมีเงินใช้จ่ายพอเพียงตามฐานะ ไม่เป็นหนี้
...................................................................................................................................
ขอขอบคุณที่มาบทความ : นิตยสาร ELLE